เป้าหมายและกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ

กลยุทธ์และนโยบายการตลาด

สำหรับปี 2565 ที่ผ่านมานั้นสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 มีแนวโน้มที่ดีมากยิ่งขึ้นจนเสมือนเป็นสภาวะตามปกติ แนวโน้มของตลาดเครื่องสำอางกลับมามีทิศทางที่ดีมากขึ้นจากการที่ ผู้บริโภคกลับมาใช้ชีวิตประจำวันปกติมากขึ้น และกลับมาให้ความสำคัญกับการแต่งหน้า เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการออกมาสังคมภายนอกมากขึ้น อีกทั้งยังให้ความสำคัญในการเลือกผลิตภัณฑ์ และอาหารเสริม ที่มีคุณภาพที่ดีเพื่อดูแลตนเองมากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นช่องทางให้ทางบริษัททำการตลาดได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยสามารถแจกแจงได้เป็นรายละเอียดดังต่อไปนี้

แบ่งตามประเภทสินค้า ได้แก่

  1. เครื่องสำอาง (Makeup) ถือว่าเป็นกลุ่มสินค้าที่กลับมาเป็นที่สนใจของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก และเป็นโอกาสให้ทางบริษัท ออกสินค้าใหม่ในแต่ละแบรนด์เป็นจำนวนมาก เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด อีกทั้งยังสำรวจความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงพัฒนาและค้นคว้า ส่วนผสม หรือ นวัตกรรมใหม่ เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าในแต่ละแบรนด์
  2. ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว (Skincare) เป็นสินค้าที่โดยพื้นฐานมีการแข่งขันที่สูง และมีความหลากหลายในการเลือกใช้ ดังนั้นทางบริษัทจึงพยายามและใส่ใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถตอบสนองความหลากหลายให้แก่ผู้บริโภคได้ อีกทั้งยังใส่นวัตกรรมใหม่ และวัตถุดิบใหม่ๆลงไปเพื่อเพิ่มความแตกต่างให้กับสินค้าในตลาด ทำให้สินค้าสามารถเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้ทั้งความสวย และ สุขภาพที่ดี
  3. สินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Products) เป็นสินค้ากลุ่มใหญ่ในตลาดที่มีการแข่งขันสูงและมีความต้องการของผู้บริโภคอย่างมาก เนื่องจากเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน จึงทำให้มีแบรนด์สินค้าใหม่เกิดขึ้นในทุกๆปีเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด สำหรับบริษัทมีการจำหน่ายสินค้าในกลุ่มนี้เช่นกัน อย่างเช่น ผลิตภัณฑ์อาบน้ำ ผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปาก ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม และผลิตภัณฑ์ล้างจาน เป็นต้น โดยใช้กลยุทธ์ในการรักษาฐานลูกค้าเดิมให้มีการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง เน้นการขยายตลาดครบทุกช่องทางทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดเดิมไว้ อีกทั้งยังแสดงให้ผู้บริโภคเห็นถึง คุณภาพสินค้าที่แตกต่าง และผ่านการทดสอบว่าปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค
  4. ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม (Supplements) เป็นกลุ่มสินค้าที่มีความน่าสนใจในตลาดอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นในปัจจุบัน และอนาคตจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจในสุขภาพมากขึ้น โดยเน้นดูแลสุขภาพทั้งภายในและภายนอก จึงทำให้ตลาดนี้ยังมีความต้องการของผู้บริโภคที่ค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นโอกาสให้หลากหลายแบรนด์เข้ามาเป็นผู้เล่นรายใหม่ในตลาดนี้ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความแตกต่างและมีจุดเด่นที่เห็นได้ชัดเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด มิฉะนั้นอาจจะทำให้ไม่สามารถต้านทานการแข่งขันนี้ได้ สำหรับบริษัทได้เข้ามามีบทบาทในตลาดนี้เช่นกัน มีความสามารถในการแข่งขันและมีความเข้าใจผู้บริโภคพอสมควร มีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหลากหลายรูปแบบที่ครอบคลุมทุกความต้องการของลูกค้า ได้แก่ อาหารเสริมดีท็อกซ์ อาหารเสริมดูแลผิว อาหารเสริมเพื่อดูแลรูปร่าง และ อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ซึ่งเป็นสินค้ากลุ่มใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดในช่วงปีที่ผ่านมา โดยเน้นทำการตลาดในช่องทางค้าปลีกและช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ซึ่งทำให้ได้รับผลการตอบรับดีเป็นอย่างมาก
  5. ผลิตภัณฑ์อโรมาเทอราพี และสปา (Aromatherapy & Spa Products) เป็นกลุ่มสินค้าที่ได้รับความนิยมเฉพาะกลุ่มในปีที่ผ่านๆ มา แต่ในปัจจุบันเริ่มมีผู้ให้ความสนใจ และเห็นถึงความสำคัญของการใช้ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ช่วยผ่อนคลาย และคลายเครียดจากชีวิตประจำวันมากขึ้น แม้ว่าในตลาดจะมีผู้เล่นรายใหญ่อยู่ไม่มาก แต่ปัจจุบันก็มีแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาในตลาดมากขึ้นจากความต้องการของผู้บริโภคที่สูงขึ้น และผู้บริโภคในปัจจุบันมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในการซื้อสินค้าไปใช้ที่บ้านหรือที่ทำงานมากขึ้น แทนการเข้าใช้บริการสปาที่ร้าน ทำให้หลายแบรนด์เพิ่มกลยุทธ์ในการขยายตลาดผลิตสินค้ากลุ่มนี้ เพื่อแข่งขันกันตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่มีมากขึ้น สำหรับบริษัทได้จำหน่ายสินค้ากลุ่มอโรมาเทอราพีมาเป็นระยะเวลานาน มีกลุ่มสินค้าหลัก ๆได้แก่ ก้านหอมปรับอากาศ น้ำมันหอมระเหย น้ำหอม และสินค้าสำหรับการดูแลผิวจากธรรมชาติ เช่น แชมพู ครีมอาบน้ำ โลชั่น เป็นต้น โดยเน้นทำตลาดในช่องทางค้าปลีกผ่านการจำหน่ายสินค้าในร้าน Stand alone ภายใต้แบรนด์รื่นรมย์ และผ่านหน้าร้าน Karmart รวมถึงห้างสรรพสินค้าชั้นนำ เช่น ไอคอนสยาม พารากอน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีร้านรื่นรมย์ในช่องทางออนไลน์ใน Marketplace และ จุดจำหน่ายรื่นรมย์โดยเฉพาะ เพื่อสามารถนำเสนอสินค้าให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายโดยตรง
  1. เน้นขยายตลาดในช่องทางออนไลน์รูปแบบใหม่ๆ เพื่อเพิ่มยอดขายและกระจายสินค้าให้เข้าถึงผู้บริโภคมากที่สุด ทั้งการจำหน่ายสินค้าผ่านตัวแทนไลฟ์สด การเพิ่มช่องทางขายในช่องทาง Social Media เช่น Facebook ในรูปแบบการดำเนินการของบริษัทเอง การเพิ่มร้านค้าของบริษัทในแพลตฟอร์ม Marketplace อื่นๆ รวมถึงยังมีการเปิดร้านค้าออนไลน์แบบแยกแบรนด์แยกร้านค้าซึ่งจากเดิมที่เปิดเฉพาะร้าน Karmart แล้วจำหน่ายสินค้าทุกแบรนด์ ซึ่งทำให้สามารถเพิ่มยอดขายได้มากขึ้น 
  2. เพิ่มจำนวนตัวแทนจำหน่าย (Distributor) ท้องถิ่นที่มีความรู้ความชำนาญในการกระจายสินค้าไปยังร้านค้าชุมชนต่างๆ พื้นที่ที่ตนเองถือครอง เพื่อขยายตลาดสู่กลุ่มลูกค้ามวลชน (Mass Market) มากขึ้น
  3. เพิ่มพื้นที่การขายในช่องทางหน้าร้านโมเดิร์นเทรด และร้านตัวแทนจำหน่ายมากขึ้น เพื่อเพิ่มช่องทางกระจายสินค้าให้ผู้บริโภคเกิดการรับรู้ในแบรนด์และเพิ่มยอดขาย รวมทั้งการจัดทำกิจกรรมส่งเสริมการขายกับคู่ค้าในรูปแบบต่างๆ เช่น ลดราคาพิเศษ แลกซื้อสินค้า แจกสินค้าทดลอง แถมสินค้าหรือของสมนาคุณ เป็นต้น
  1. ทางบริษัทสามารถกลับมาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ Out of Home ได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ผู้บริโภคลดความกังวล และเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติมากขึ้น ทำให้ทางบริษัทสามารถกลับมาโปรโมทผ่านช่องทาง Out of home ได้มากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ทำให้ผู้บริโภคได้รับรู้เกี่ยวกับสินค้าเรามากขึ้น
  2. เพิ่มรูปแบบการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะช่องทาง Social Media เช่น การใช้ Beauty Blogger, Influencer และ Real User ช่วยประชาสัมพันธ์สินค้า เนื่องจากปัจจุบันการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคมีอิทธิพลมาจากพฤติกรรมการใช้สินค้าของบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญ ในด้านนั้นๆ หรือบุคคลที่มีการใช้สินค้าจริงมากขึ้น นอกจากนี้ยังเน้นประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านการรีวิวสินค้าทั้งในรูปแบบข้อความ ภาพ และวิดีโอ เพื่อให้สามารถสื่อสารให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงจุดประสงค์ในการนำเสนอสินค้ามากที่สุด
  3. เพิ่มการรับรู้ในสินค้าให้กับกลุ่มลูกค้าใหม่ผ่าน Presenter ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เพื่อขยายตลาดและ สร้างกลุ่มลูกค้าใหม่ในกลุ่มผู้ติดตาม Presenter ให้มีโอกาสเริ่มต้นทดลองใช้สินค้าของบริษัทมากขึ้น

จะเห็นได้ว่า จากการที่บริษัทสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์โควิด 19 ได้ด้วยกลยุทธ์และนโยบายการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ทำให้บริษัทสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างดี จึงไม่ส่งผลกระทบต่อยอดขายในภาพรวมมากนัก และยังมียอดขายเพิ่มขึ้นจากการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์บางส่วนอีกด้วย

กลุ่มเป้าหมาย

ในด้านลักษณะลูกค้าและกลุ่มเป้าหมาย บริษัทเน้นทำการตลาดในกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงานอายุ 18-40 ปี รักการดูแลตนเอง และมีความสนใจในด้านผลิตภัณฑ์ความงามและชื่นชอบการอัพเดทเทรนด์ความงาม โดยมุ่งเน้นการนำเสนอสินค้าในราคาระดับกลางเพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงและจับต้องสินค้าคุณภาพได้ง่ายขึ้น โดยมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันตามคอนเซ็ปต์ของแต่ละแบรนด์ เพื่อให้สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ได้ตรงกับความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคทุกกลุ่มได้อย่างครอบคลุม ดังนี้

  1. เคที่ดอลล์ (Cathy Doll) มุ่งเน้นทำการตลาดในกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน ที่ชื่นชอบและสนใจด้านแฟชั่น ทันสมัย มีความขี้เล่น มีความมั่นใจในตนเอง ต้องการผลิตภัณฑ์ที่เป็นผู้นำเทรนด์แฟชั่นด้านความงามมาเพื่อตอบโจทย์ปัญหาความงามทุกรูปแบบ
  2. เบบี้ไบร์ท (Baby Bright) มุ่งเน้นทำการตลาดในกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน ที่ใส่ใจสุขภาพ รักการดูแลตัวเอง ต้องการผลิตภัณฑ์ความงามจากธรรมชาติเพื่อตอบโจทย์ความต้องการในด้านความงามพร้อมกับการดูแลตนเองให้มีสุขภาพดี
  3. โบย่า (Boya) มุ่งเน้นทำการตลาดกับคนทุกเพศ ทุกวัย ใส่ใจในการดูแลตนเอง ให้ความสำคัญกับการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย ผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคเกี่ยวกับการดูแลเส้นผมและผิวกาย
  4. เจจูวิต้า (Jejuvita) มุ่งเน้นทำการตลาดในกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงานที่รักการดูแลสุขภาพ ชื่นชอบการดูแลตนเองจากภายในสู่ภายนอก ต้องการผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีคุณประโยชน์ครบถ้วนและรสชาติอร่อย
  5. รื่นรมย์ (Reunrom) มุ่งเน้นทำการตลาดในกลุ่มวัยทำงานขึ้นไปที่ใส่ใจดูแลสุขภาพกายและจิตใจให้มีสุขภาพดี ต้องการผลิตภัณฑ์ความงามที่มาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ เช่น การใช้กลิ่นหอมช่วยผ่อนคลาย บำบัดความเครียด และสร้างบรรยากาศใหม่ เป็นต้น
  6. เครยอน (Crayon) มุ่งเน้นทำการตลาดในกลุ่มวัยทำงานขึ้นไป มีความทันสมัย มีความมั่นใจในตนเอง สนใจในด้านแฟชั่นความงาม ต้องการผลิตภัณฑ์ความงามระดับโปรเฟสชั่นแนลที่ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับตนเอง
  7. เคที่ ชู (Cathy Choo) มุ่งเน้นการทำการตลาดกับกลุ่มลูกค้าวัยทำงานขึ้นไปที่รักการปรณนิบัติผิวด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่อ่อนโยนช่วยปลอบประโลมผิว ให้ความรู้สึกเหมือนการทำสปาที่บ้าน
  8. สกินแล็บ (Skynlab) มุ่งเน้นทำการตลาดในกลุ่มวัยทำงานขึ้นไปที่รักการดูแลสุขภาพกายโดยเฉพาะช่องปาก หรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับช่องปากและผิวแพ้ง่าย ต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพระดับพรีเมี่ยมมาตอบโจทย์ปัญหาและเพิ่มความมั่นใจให้กับตนเองมากขึ้น
  9. กึมยอน (KEUMYON) มุ่งเน้นทำการตลาดสำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์ด้านการดูแลเส้นผมหรือมีปัญหาด้านเส้นผมโดยเฉพาะ มุ่งเน้นสารสกัดจากธรรมชาติ และสมุนไพรขั้นสูง เพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพในราคาที่จับต้องได้
  10. เซเว่น คลีน (7-Clean) มุ่งเน้นทำการตลาดในกลุ่มวัยทำงาน แม่บ้าน ที่ใส่ใจในการรักษาความสะอาดในครัวเรือน ต้องการผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีคุณภาพดี มีความปลอดภัยต่อสุขภาพของคนในครอบครัว
  11. บราวอิท (BROWIT) มุ่งเน้นทำการตลาดกับกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน ที่มีความสนใจในด้านแฟชั่น ต้องการสร้างลุคใหม่ในการแต่งหน้าให้ดูดีระดับมืออาชีพ ด้วยผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางคุณภาพดีระดับพรีเมี่ยมเพื่อช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับตนเอง
  12. ฑา (THA) มุ่งเน้นทำการตลาดในกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน ที่มีความทันสมัย ใส่ใจในการดูแลตนเอง ต้องการผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ให้ทั้งความสวยงามพร้อมกับช่วยบำรุงผิวให้มีความอ่อนโยน